อุตสาหกรรมการค้า ไม่ว่าจะเป็นการขนถ่ายสินค้าและการบริหารจัดการสินค้าคงคลังหรือในโรงเก็บสินค้ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งในแต่ละภาคส่วนได้นำเอา เทคโนโลยี RFID มาใช้ในการจัดการในงานต่างๆ ซึ่งสามารถช่วยอำนวยความสะดวกในการจัดเก็บสินค้า ประหยัดเวลาและพลังงาน เทคโนโลยีด้าน RFID นั้นมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากในด้านการระบุตัวตนของสินค้าและการติดตามสินค้า ตลอดจนเพิ่มความแม่นยำถูกต้องในการการจัดการสต็อกสินค้า ลดความผิดพลาดและจัดการสินค้าที่มีความซ้ำซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เทคโนโลยี RFID หรือที่มีชื่อเต็มว่า Radio Frequency Identification ประกอบไปด้วย ตัวอ่าน RFID (RFID Reader) และตัวป้าย RFID (RFID Tag) ซึ่งทั้ง 2 อุปกรณ์ต้องเชื่อมต่อกับระบบคอมพิวเตอร์ ในส่วนของตัว Tag นั้นมีหน้าที่ในการจัดเก็บข้อมูลแบบ Realtime และส่งข้อมูลผ่านคลื่นวิทยุ ภายในตัว Tag นั้นประกอบไปด้วย 2 ส่วน คือ
1. ชิพขนาดเล็ก (Small Chip)
2. สายอากาศ (Antenna)
ข้อมูลจะถูกเก็บและถูกจัดการโดย Chip ขณะที่สายอากาศถูกใช้ในการรับส่งข้อมูล ยกตัวอย่างเช่น Chip จะทำหน้าที่ในการเก็บข้อมูลของสินค้าและการขนส่ง (Shipment) ที่ใช้ในการติดตามสินค้าโดยจะระบุถึงตัวเลขที่สำคัญต่อการระบุประเภทของสินค้า เป็นต้น ซึ่งในทุกๆข้อมูลจะถูกเก็บไว้ในตัว Tag หรือภายใน Chip ในส่วนของการอ่านข้อมูลนั้นจะอยู่ที่ตัวอ่าน RFID (RFID Reader) เมื่อตัวป้าย RFID (RFID Tag) นั้นเคลื่อนที่ผ่าน ข้อมูลเหล่านั้นในตัว Tag จะถูกอ่านและตรวจจับโดยตัวอ่าน RFID (RFID Reader) ดังนั้นการเคลื่อนที่ของตัว Tag ที่ถูกบรรจุไว้กับสินค้า นั่นหมายถึงการเคลื่อนของสินค้าใดๆจะถูกติดตามผ่านตัวอ่านและคอมพิวเตอร์ที่ตั้งค่าไว้
อย่างไรก็ตาม อุปกรณ์หลัก ได้แก่ ตัวอ่าน RFID (RFID Reader) ตัวป้าย RFID (RFID Tag) สายอากาศ (Antenna) และโปรแกรมในการจัดการระบบ RFID
ประเภทของ RFID Tag มีอยู่ 3 ประเภทคือ
• Tag แบบ Active จะมีแบตเตอรี่อยู่ในตัวแต่มีหน้าที่ในการส่งพลังงานในวงจรแล้วส่งต่อไปยังตัวอ่าน
• Tag แบบ Semi-Passive มีแบตเตอรี่เป็นแหล่งพลังงานในการเลี้ยงวงจร ยืดอายุให้ Tag ยาวนานขึ้น
• Tag แบบ Passive มีหน้าที่ในการรอสัญญาณวิทยุจากตัวอ่านเท่านั้น เพราะเนื่องจากไม่มีแบตเตอรี่ในตัว
• เพิ่มความสามารถในการมองเห็นและรับรู้ถึงความเป็นอยู่ของสินค้า กล่าวคือ เทคโนโลยี RFID ทำให้สามารถติดตาม หรือ Tracking สินค้าได้อย่างทันเวลาตลอดในช่วงของสายการผลิตและการขนถ่ายสินค้าด้วยความถูกต้องแม่นยำจากข้อมูลรายละเอียดที่ระบุในตัว Tag จึงเพิ่มประสิทธิภาพในด้านของข้อมูลอีกด้วย
• ลดการเก็บสินค้าที่ไม่จำเป็นและการจัดการพื้นที่ ด้วย RFID นี้ ทำให้สามารถทราบถึงข้อมูลและปริมาณจำนวนของสินค้า ซึ่งส่งผลต่อพื้นที่ในการจัดเก็บสินค้า ลดจำนวนที่ไม่ต้องการลงได้และทำให้ง่ายต่อการจัดเก็บมากยิ่งขึ้น
• ความถูกต้องในการติดตามสินค้า การติดตามสินค้าในอดีตมีข้อจำกัดในการรับรู้ถึงสถานะปัจจุบันและตำบลที่อยู่ของสินค้า ซึ่งในปัจจุบันสามารถติดตามสินค้าพร้อมข้อมูลรายละเอียด รวมทั้งสถานที่ได้อีกด้วย ทำให้สามารถดูแลรักษาสินค้าที่มีราคาสูงมากๆ ได้อย่างปลอดภัย
• การควบคุมคุณภาพ ด้วยข้อมูลที่ Real Time ทำให้จัดการสินค้าที่ความบกพร่องและซ้ำซ้อนได้ทันเวลาก่อนถึงมือลูกค้า
• ลดค่าใช้จ่ายในส่วนของแรงงาน ระบบ RFID จะสามารถลดการจ้างงานได้มากยิ่งขึ้น เมื่อนำมาใช้แทนแรงงานในการนับสินค้าหรือการตรวจสอบสินค้าได้ อีกทั้งลดความผิดพลาดจากมนุษย์ได้
• การแชร์ข้อมูลของสินค้า ที่ต้องมีการสับเปลี่ยนโอนถ่ายข้อมูลที่เกิดขึ้นขณะเวลาที่ต้องมีการขนถ่ายสินค้า สามารถส่งต่อข้อมูลได้ง่ายมากยิ่งขึ้น และมีความสะดวกรวดเร็ว ทำให้บริหารจัดการและขนถ่ายสินค้าได้ดียิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้เทคโนโลยี RFID มีข้อดีอยู่อย่างมากมาย แต่ก็ยังมีข้อเสียที่ต้องคำนึงถึงด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ราคาในการใช้ระบบ RFID ที่ต้องมีการดูแลรักษาโปรแกรมให้มีความเสถียรและสามารถใช้งานได้อยู่เสมอ อีกทั้งการใช้ระบบ RFID จะต้องมีโครงสร้างพื้นฐานในหลายๆภาคส่วนในการใช้งานร่วมกันเพื่อให้สามารถส่งถ่ายข้อมูลได้อย่าง Real time และรวดเร็ว นอกจากนี้ยังมีเรื่องของความปลอดภัยของข้อมูล กล่าวคือ ระบบ RFID นั้นแม้จะมีความสะดวกเป็นอย่างมาก แต่ยังมีอุปสรรคในการแก้ไขปัญหาจากการถูกแฮ็ค (HACK)และการก็อปปี้ข้อมูลได้ เพียงแค่ใช้ตัวอ่านที่อยู่ในช่วงความถี่เดี่ยวกัน ดังนั้นจึงต้องมีการเลือกใช้เทคโนโลยี RFID ให้มีความเหมาะสมและยังคงรักษาความปลอดภัยของสินค้าได้